ยินดีต้อนรับเข้าสู่คูลแอร์โฮม
(0 item) - ฿0.00

คุณไม่มีรายการสินค้าในรถเข็นของคุณ

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับแอร์


9 วิธีใชัแอร์ แบบเย็นใจ สบายกระเป๋า (Life and Home)
เรื่อง : ยุกาวตี บญกา

ต้อนรับเข้าสู่ฤดูร้อนของเมืองไทยกันอีกครั้ง หลังที่จากปีนี้ฤดูหนาวมาช้า แต่ก็ไม่วายจะต้องร้อนระอุในบางช่วงบางวัน จะให้หนีอากาศร้อนได้อย่างไรคะ ในเมื่อเมืองไทยอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร ฤดูร้อนก็เหมือนจะเป็นฤดูหลักไป ส่วนฤดูฝนและฤดูหนาวเป็นเพียงแค่ลมพัดผ่านสั้น ๆ ในแต่ละปี ยิ่งตอนนี้สภาวะอุณหภูมิโลกสูงขึ้นนั่นหมายความว่าเราจะต้องต้องเจออากาศร้อนเพิ่มขึ้นทุกปี การติดตั้งเครื่องปรับอากาศในบ้านจึงเป็นการแก้ปัญหาอากาศร้อนที่หลาย ๆ บ้านขาดไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายและเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า จึงขอแนะนำวิธีใช้แอร์อย่างประหยัดค่าไฟฟ้ามาฝากกันค่ะ

 1. ต้องประหยัดไฟเบอร์ 5

จากสถิติการใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ ปีจะพบว่าช่วงเดือนเมษายนจะเป็นช่วงเวลาที่เมืองไทยใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดเสมอ เพราะเป็นช่วงเวลาที่เมืองไทย อากาศร้อนสุด ๆ สถิตินี้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าเมืองไทยใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อสร้างความเย็นให้ที่อยู่อาศัยมากเป็นอันดับต้น ๆ การเลือกแอร์ที่ประหยัดไฟ จึงเป็นปัจจัยแรกที่ควรนึกถึงทุกครั้งที่เลือกซื้อ เป็นที่ทราบกันดีค่ะว่า ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นระดับความประหยัดไฟฟ้าสูงที่สุดออกโดยกระทรวงพลังงาน และจะมีตรากระทรวงประทับอยู่บนฉลากเสมอ แอร์ประหยัดไฟเบอร์ 5 จึงเป็นแอร์ที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเลือกซื้อแอร์ติดตั้งภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแอร์แบบฝังในเพดาน แอร์ติดผนัง หรือแอร์เคลื่อนที่

 2. ติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสม

เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับตำแหน่งการติดตั้งแอร์ เพราะหากอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้วจะสามารถลดค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้ ตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้งแอร์ FCU (ตัวเครื่องที่ติดตั้งภายในห้อง) ในบ้านมีดังนี้

 บริเวณที่ติดตั้งสามารถกระจายลมได้ทั่วถึงทั้งห้อง ไม่มีสิ่งกีดขวาง และไม่ควรติดตั้งในมุมอับ หลีกเลี่ยงการติดตั้ง FCU ในบริเวณที่ใกล้กับประตู หน้าต่าง หรือพัดลมดูดอากาศเพราะจะทำให้อากาศเย็นภายใน ถูกความร้อนภายนอกไหลเข้ามาแทนที่ได้ง่าย

 อย่าติดชิดผนังที่รับแดดจัด หรือทิศตะวันตก เพราะจะทำให้แอร์ทำงานหนัก ยิ่งเป็นห้องนอนที่ต้องอยู่อาศัยในช่วงเย็นด้วยแล้ว ยิ่งควรหลีกเลี่ยงตำแหน่งดังกล่าว

 3. เลือกขนาดที่พอดีกับพื้นที่ภายในห้อง

อาจจะได้ยินกันมาบ้างสำหรับค่า BTU (British Thermal Unit) คือหน่วยวัดปริมาณความร้อน โดยในเครื่องปรับอากาศจะใช้หน่วยวัดพลังเป็น BTU/hr. (บีทียูต่อชั่วโมง) หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า BTU เทานั้น อาทิ เครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 BTU/hr. หมายความว่าเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้สามารถดูดความร้อน BTU ภายในหนึ่งชั่วโมง เครื่องปรับอากาศแต่ละรุ่นจะมีค่า BTU ต่างกันเริ่มตั้งแต่ 9,000-80,000 BTU ซึ่งถือเป็นค่าสูงสุด การเลือกขนาด BTU ตามความเหมาะสม ควรเลือกตามขนาดของห้อง สามารถคำนวณโดยใช้สูตร

พื้นที่ห้อง x ค่า Cooling Load Estimation = ค่า BTU ที่เหมาะสม

ค่าประเมิน Cooling Load Estimation ที่เหมาะสมกับแต่ละห้อง

 ห้องนอน 700-750 BTU/ตารางเมตร

 ห้องนั่งเล่น 750-850 BTU/ตารางเมตร

 ห้องทานอาหาร 800-950 BTU/ตารางเมตร

 ห้องครัว 900-1000 BTUตารางเมตร

 ห้องทำงาน 800-900 BTU/ตารางเมตร

 ห้องประชุม 850-1000 BTU/ตารางเมตร

สูตรข้างต้นใช้คำนวณในกรณีที่ความสูงของเพดานที่สูงไม่เกิน 3 เมตรเท่านั้น หากห้องมีความสูงมากกว่าและมีปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ จำนวนผู้อยู่อาศัย เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือพื้นที่กระจกภายในห้อง จะต้องบวกค่า BTU เพิ่มด้วย หากเลือกขนาดของ BTU มากติดตั้งในห้องขนาดเล็กก็จะเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ


 

 4. ตั้งอุณหภูมิให้พอเหมาะ

โดยทั่วไปแล้วเรามักจะเข้าใจว่าอุณหภูมิภายในห้อง ที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยอยู่แล้วรู้สึกสบายนั้น จะอยู่ที่ 25-26 องศา หากเกินนี้จะรู้สึกร้อนเกินไป แต่หากเลือกเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 28-30 องศา แล้วเลือกเปิดพัดลมเพื่อเพิ่มความเร็วลมในห้อง เราจะยังรู้สึกเย็นสบายอยู่เช่นเดิมและช่วยประหยัดพลังงานได้มากเพราะเครื่องปรับอากาศจะทำงานเบาลง หากเป็นช่วงเวลานอนควรตั้งอุณหภูมิไว้ ไม่ต่ำกว่า 28 องศา เนื่องด้วยในช่วงเวลาที่เราหลับร่างกายจะไม่สามารถปรับอุณหภูมิตามสภาพอากาศได้จึงควรตั้งอุณหภูมิที่สูงไว้ เป็นการช่วยประหยัดพลังงานได้อีกทาง

 5. เครื่องใช้ไฟฟ้า เอามันออกไป

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้อง อย่างเช่น ตู้เย็น เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องถ่ายเอกสาร หม้อ หุงข้าว เครื่องชงกาแฟ กาต้มน้ำไฟฟ้า รวมทั้งการเปิดไฟมากเกินความจำเป็น คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิห้องสูงขึ้นและทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักขึ้นด้วย ดังนั้นชิ้นไหนไม่จำเป็น จึงควรย้ายออกจากห้องและควรเปิดไฟแต่พอดี เพื่อให้ห้องเย็นสบาย

 6. งดกิจกรรมทำความร้อน

อ๊ะ!! อย่าคิดลึกนะคะ กิจกรรมทำความร้อนที่ว่า คือการสูบบุหรี่ภายในห้องปรับอากาศ เนื่องด้วยการสูบบุหรี่ในห้องปรับอากาศจะต้องเปิดพัดลมระบายอากาศเพื่อระบายควันและกลิ่นออกจากห้อง การถ่ายอากาศส่วนหนึ่งออกจากห้องและปล่อยให้อากาศภายนอกเข้ามาทดแทนจะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้น เพี่อปรับอุณหภูมิภายในห้องให้เย็นเท่าเดิม

 7. เสื้อผ้าใส่สบายเข้าไว้

เคยเห็นกันบ้างใช่ไหมคะ ออฟฟิศบางแห่งตั้ง อุณหภูมิห้องไว้ที่ 20 องศาแล้วบางท่าน (โดยเฉพาะ คุณผู้หญิง) ต่างโหมประโคมใส่เสื้อผ้าชุดกันหนาว ประดุจดั่งอยู่เมืองนอกเมืองนา บ้างก็ใส่สูทตัวหนาเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีมาก ๆ ค่ะ เพราะเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ เราสามารถปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 25 องศาแล้วใส่ เสื้อผ้าสบาย ๆ ให้ได้รับความเย็นที่กำลังพอดีได้ ในบ้านก็เช่นกันหากเลือกใส่เสื้อผ้าที่สบาย ๆ แล้วเราตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 28 องศา จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าไปอีกแรง

 8. ผ้าม่านช่วยได้เยอะ

ไม่ใช่แค่ความสวยงามเท่านั้น ผ้าม่านยังทำหน้าที่กันความร้อนอีกชั้นไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ภายในบ้าน โดยทั่วไปแล้วม่านหน้าต่างจะนิยมติดตั้ง 2 โดยชั้นแรกจะเป็นม่านกรองแสงที่ช่วยบังตาจากภายนอก ส่วนอีกชั้นจะเป็นผ้าม่านหนาที่นอกจากจะช่วยสร้างความงามให้ห้องด้วยลวดลายสีสันที่หลากหลายแล้ว ม่านหนานี้ยังทำหน้าที่กันความร้อนจากภายนอกไม่ให้เข้าสู่ภายในห้องโดยตรง ยิ่งปัจจุบันผ้าม่านมีนวัตกรรมมากมายทั้งเก็บความเย็นภายในบ้าน ป้องกันแสงยูวี และอายุการใช้งานก็คงทนลวดลายคงอยู่ยาวนานด้วย

 9. ธรรมชาติมอบสิ่งดี ๆ เสมอ

ที่สุดแล้วคนเราคงหนีธรรมชาติไม่พ้น และต้นไม้ก็เป็นอีกสิ่งมีชีวิตบนโลกที่ช่วยเราได้หลาย ๆ เรื่อง ทั้งเรื่องอากาศบริสุทธิ์ สร้างความร่มรื่น และยังช่วยบังความร้อนจากแสงอาทิตย์ หากปลูกต้นไม้รอบ ๆ บ้านแล้ว จะช่วยให้เราลดการใช้เครื่องปรับอากาศได้มาก หากบ้านไหนมีต้นไม่ใหญ่ปลูกเป็นสวนร่มรื่นด้วยแล้ว แทบจะไม่ต้องพึ่งพลังงานเครื่องปรับอากาศกันเลยทีเดียว และวิธีนี้เป็นทางออกสันติวิธีที่นอกจากจะช่วยให้บ้านเย็นแล้ว ยังช่วยให้อุณหภูมิโลกเย็นลงด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Life and HOME No.219 มีนาคม 2556


    วิธีประหยัดไฟฟ้าเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศ
1. พฤติกรรมใช้งานเครื่องปรับอากาศ
1.1 ปิดเครื่องปรับอากาศทุกครั้งที่จะไม่อยู่ในห้องเกิน 1 ชั่วโมง สำหรับเครื่องปรับอากาศทั่วไปและ 30 นาที สำหรับเครื่องปรับอากาศ เบอร์ 5
1.2 ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่กำลังสบาย อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น1องศา ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-10     
    1.3 ในสำนักงาน ให้ปิดไฟฟ้า ปิดเครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ในช่วงเวลา 1200 - 1300 จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้
1.4 ไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศก่อนเวลาเริ่มงาน และควรปิดเครื่องปรับอากาศก่อนเวลาเลิกใช้งานเล็กน้อย เพื่อประหยัดไฟฟ้า
1.5 หากอากาศภายนอกไม่ร้อนเกินไป ควรเปิดพัดลมแทนเครื่องปรับอากาศ จะช่วยประหยัดไฟฟ้า
2. การดูแลและบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ
2.1 หมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศของเครื่องปรับอากาศบ่อยๆ เพื่อลดการเปลืองไฟฟ้าในการทำงานของเครื่องปรับอากาศ
2.2 อย่านำสิ่งของไปวางขวางทางลมเข้า-ออก ของชุดระบายความร้อนที่อยู่นอกอาคาร จะทำให้เครื่องระบายความร้อนไม่ดี ทำงานหนัก และเปลืองไฟฟ้า
2.3 อย่าติดตั้งชุดระบายความร้อนใกล้ผนังเกินไป เพราะเครื่องจะใช้ไฟฟ้ามากขึ้นร้อยละ 5-20 ควรตั้งให้ห่างอย่างน้อย 15 เซนติเมตร เพื่อระบายความร้อนได้ดี
2.4 อย่านำสิ่งของขวางทางลมเข้า-ออกของเครื่องปรับอากาศ เพราะเครื่องปรับอากาศจะทำงานหนักและเปลืองไฟ
2.5 ไม่ควรปล่อยให้มีความเย็นรั่วไหลจากห้องที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ตรวจสอบและอุดรอยรั่วตามผนัง ฝ้าเพดาน ประตู ช่องแสง และปิดประตูห้องทุกครั้งที่เปิดเครื่องปรับอากาศ
2.6 ลดและหลีกเลี่ยงการเก็บเอกสาร หรือวัสดุอื่นใดที่ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการสูญเสีย และใช้พลังงานจากการถ่ายเทความร้อนเข้าภายในอาคาร
3. การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอาคารสถานที่
3.1 ใช้มู่ลี่กันสาดป้องกันแสงแดดส่องกระทบตัวอาคาร และบุฉนวนกันความร้อนตามหลังคาและฝาผนัง เพื่อไม่ให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักเกินไป
3.2 ติดตั้งฉนวนกันความร้อนโดยรอบห้องที่มีการปรับอากาศ เพื่อลดการสูญเสียพลังงานจากการถ่ายเทความร้อนเข้าภายในอาคาร
3.3 ควรปลูกต้นไม้รอบๆ อาคาร เพราะต้นไม้ขนาดใหญ่ 1 ต้น ให้ความเย็นเท่ากับเครื่องปรับอากาศ 1 ตัน หรือให้ความเย็นประมาณ 12,000
บีทียู

น้ำแอร์หยดเกิดจากอะไร วิธีแก้ไขปัญหาน้ำแอร์รั่วไหลเบื้องต้นแบบง่ายๆ
ปัญหาน้ำแอร์หยดด้านในนี่เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยตามบ้านทั่วไป ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มักจะพาความรำคาญจากความเปียกชื้น และยังอาจทำให้เกิดอันตรายจากไฟรั่วได้อีก สาเหตุที่ทำให้น้ำแอร์หยดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน วันนี้เราจะมาแนะนำถึงสาเหตุและวิธีแก้ไข ในกรณีที่เกิดน้ำแอร์หยดครับ
สาเหตุ
1.เกิดจากถาดหรือท่อทิ้งน้ำนั้นตัน ทำให้น้ำที่เกิดจากกระบวนการฟอกอากาศ ไม่สามารถระบายออกไปได้ จึงล้นและไหลย้อนกลับมา กลายเป็นน้ำที่หยดซึมมาจากตัวแอร์ในที่สุด
2.ถาดคอยล์ด้านหลังของแผงคีบแอร์นั้นเกิดตัน และทำให้เกิดมีหยดน้ำเกาะอยู่นอกตัวแอร์
3.ถาดน้ำทิ้งเกิดการชำรุด เช่นหลุด หรือแตก
4.การเดินท่อภายในของช่างนั้นไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้หุ้มท่อไม่ได้มาตรฐาน และเกิดหยดน้ำเกาะรอบๆ ตัวจนหยดออกมานอกตัวแอร์ได้ในที่สุด
วิธีแก้ไข
1.ควรทำความสะอาดโยการใช้โบลเวอร์ (Blower) หรือเครื่องเป่าไฟฟ้า ไล่น้ำออกให้แห้ง โดยบริเวณที่เน้นมากๆ คือท่อน้ำทิ้งและบริเวณปลายท่อ
2.แก้ไขโดยการล้างแอร์ ซึ่งหากผู้ใช้งานมีความชำนาญก็สามารถถอดส่วนประกอบ หรือท่อแอร์ออกมาล้างได้เลย หรือหากไม่มีความชำนาญ สามารถเรียกช่างแอร์มาล้างก็ได้ครับ
3.หากแอร์นั้นมีความสกปรกมาก เช่นฝุ่นหรือมีคราบสกปรกไปเกาะอยู่จำนวนมาก เครื่องจะระบายความเย็นออกมาไม่ทัน ทำให้เกิดน้ำแข็งจับและกลายเป็นหยดน้ำออกมานอกเครื่องได้ในที่สุด กรณีนี้ควรติดต่อเรียกช่างแอร์จะดีกว่าครับ เพราะต้องทำการรื้อเครื่องดูจุดที่สกปรกซึ่งอยู่ภายในเครื่องแอร์นั่นเอง
4.อีกสาเหตุที่พบได้บ่อยคือน้ำยาแอร์มีน้อยจนเกินไป หรืออาจเกิดจากการรั่วซึมของน้ำยา ควรติดต่อช่างแอร์โดยด่วน เพราะน้ำยาแอร์นี้เป็นส่วนที่สำคัญต่อการเกิดความเย็น ถ้าหากมีน้อยเกินไปจะทำให้ตัวแอร์นั้นปรับอากาศได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรืออาจทำให้เครื่องรวนหรือพังไปเลยก็ได้
5.ตรวจดูว่าภายในเครื่องมีสัตว์จำพวกหนู หรือแมลงเข้าไปอาศัยหรือตายติดอยู่หรือไม่ เพราะบางครั้งสัตว์จำพวกนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการอุดตันของท่อแอร์ภายในเครื่องได้
6.ตรวจดูถาดน้ำทิ้ง หากพบว่าเลื่อน หรือเคลื่อน ควรทำการแก้ไขให้อยู่ในสภาพเดิม
การแก้ปัญหาน้ำแอร์หยดนั้น ทางที่ดีควรติดต่อเรียกช่างแอร์ หรือคนที่มีความชำนาญจะดีกว่า เพราะส่วนใหญ่นั้นเป็นเรื่องของทางเทคนิค และเครื่องแอร์นั้นก็มีความซับซ้อนมาก หากไม่ชำนาญหรือไม่เคยรื้อเครื่องมาก่อน อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ครับ

เทคนิคการเลือกขนาดแอร์เหมาะสม กับขนาดห้องของท่าน
BTU คืออะไร ?  Coolairhome.com  ได้นำสาระน่ารู้มาฝาก
 
  BTU ย่อมาจาก British Thermal Unit คือขนาดความสามารถการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ โดย 1 ตันความเย็น = 12000 BTU
 
เราควรเลือกขนาดของเครื่องปรับอากาศให้พอเหมาะกับห้อง
 
หาก BTU สูงไป คอมเพรสเซอร์จะตัดบ่อย ความชื้นในห้องสูง ทำให้ไม่สบายตัว ราคาแพง และสิ้นเปลืองพลังงาน
 
หาก BTU ต่ำไป คอมเพรสเซอร์จะทำงานหนัก ต้องทำงานตลอดเวลา เพราะความเย็นไม่ได้ตามอุณหภูมิที่ตั้งไว้ สิ้นเปลืองพลังงาน และอายุการใช้งานแอร์ลดลง
 
ปัจจัยที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมในการเลือกขนาดบีทียูแอร์
 
1. จำนวนและขนาดของหน้าต่าง
 
2. ทิศที่แดดส่องหรือทิศที่ตั้งของห้อง
 
3. วัสดุหลังคามีฉนวนกันความร้อนหรือไม่
 
4. จำนวนคนทีใช้งานในห้อง
 
5. จำนวน และประเภทของเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆภายในห้อง เช่นคอมพิวเตอร์ หรือไดร์เป่าผม ที่ทำให้เกิดความร้อนภายในห้อง
 
วิธีการคำนวณหาค่า BTU
 BTU = พื้นที่ห้อง (กว้าง x ยาว) x ค่าตัวแปร
 ค่าตัวแปร
 700-800 สำหรับห้องนอน หรือห้องที่มีความร้อนน้อย (ห้องที่ไม่โดนแดดหรือโดนเล็กน้อย ฝ้าต่ำ หรือห้องที่ใช้แอร์ช่วงกลางคืน)
 
800-900 สำหรับห้องรับแขก หรือห้องที่มีความร้อนปานกลาง – มาก (ห้องที่โดนแดด อยู่ทิศตะวันตก หรือใช้แอร์ช่วงกลางวัน)
 
900-1000 สำหรับห้องทำงาน ห้องออกกำลังกาย หรือห้องที่มีความร้อนมาก หรือฝ้าสูง(ห้องที่โดนแดด อยู่ทิศตะวันตก อยู่ชั้นบนสุด หรือใช้แอร์ช่วงกลางวัน)
 
1000-1200 สำหรับร้านค้า ร้านอาหารที่เปิดปิดประตูบ่อย ร้านทำผม หรือสำนักงานที่มีคนอยู่จำนวนมาก
 
หากฝ้าเพดานสูงกว่า 2.5 เมตร มีจำนวนคนในห้องมาก หรือมีคอมพิวเตอร์ ควรบวกค่า BTU เพิ่มขึ้นอีก 5% จากค่าปกติ
 ตัวอย่าง  ห้องนอนมีขนาดกว้าง 3.5 เมตร ยาว 4.5 เมตร ต้องใช้แอร์ขนาดเท่าไร
 (ข้อมูลเพิ่มเติม ห้องอยู่ทางทิศตะวันตก มีเครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวี หลอดไฟฟ้า)
 ใช้ค่าตัวแปร  = 800
 
สูตร พื้นที่ห้อง x ค่าตัวแปร (ห้องนอน)
 
BTU = 3.5*4.5 *800 = 12600 BTU
 
การคำนวณห้องกรณีห้องมีฝ้าสูง

BTU = ปริมาตรของห้อง (กว้าง x ยาว x สูง) x ค่าตัวแปร
 
3
 

ตัวอย่าง ห้องนอนมีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 5.5 เมตร สูง 4 เมตรต้องใช้แอร์ขนาดเท่าไร
 
(ข้อมูลเพิ่มเติม ห้องอยู่ทางทิศตะวันออก มีเครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวี หลอดไฟฟ้า)
 
ใช้ค่าตัวแปร  = 800
 
BTU = ปริมาตรของห้อง (กว้าง x ยาว x สูง)/3 x ค่าตัวแปร
 
BTU = 5.5 * 5 * 4 *800 / 3 = 29333 BTU
 
ต้องใช้แอร์ขนาด 30000 บีทียู ขึ้นไป

EER คืออะไร
 
EER ย่อมากจาก Energy Efficiency Ratio หรือ อัตราส่วนประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศมีหน่วยเป็น BTU/W
คือค่าที่ใช้วัดประสิธิภาพของการใช้พลังงานเครื่องปรับอากาศว่ามีประสิธิภาพของการใช้พลังงานในการทำความเย็นเป็น
อย่างไร ดังนั้นถ้าค่า EER เท่ากับ 10.5  ก็คือ (12000 Btu/1142.86 W)
ถ้าค่า EER สูงนั้นแสดงว่าเครื่องปรับอากาศนั้นมีประสิธิภาพในการใช้พลังงานที่ดีนั้นคือเครื่องปรับอากาศ
ก็จะประหยัดไฟได้ดี  โดยทั่วไปเครื่องปรับอากาศมักจะบอกขนาดเป็นบีทียูต่อชั่วโมง (Btu/hr.) แต่ส่วนใหญ่คนทั่วไปจะเรียก
สั้นๆ ว่าบีทียู Btu เป็นคำย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า   British  thermal   units

"ความหมายของ  1  บีทียู ก็คือ ปริมาณความร้อนที่เพิ่มอุณหภูมิของน้ำ 1 ปอนด์ (0.45  กิโลกรัม)อณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาฟาเรนไฮต์  (0.56 องศาเซลเซียส)ในเวลา 1 ชั่วโมง"

british thermal unit per hour (btu/hr) - the amount of heat required to raise one pound of water by one degree fahrenheit in one hour.

1  บีทียู  =   1,055  จูล

หน่วย  12,000  บีทียู/ชั่วโมง มักจะเรียกว่า  1  ตันทำความเย็น ซึ่งจะหมายถึงว่าปริมาณความร้อนที่สามารถละลายน้ำแข็งหนัก 1 ตันให้ละลายเป็นน้ำได้หมดในเวลา 1 ชั่วโมง

โดยทั่วไป ในเนื้อที่  1 ตารางฟุต  ดึงความร้อนออกประมาณ  30  บีทียู  ดังนั้นเนื้อที่ประมาณ  2000  ตารางฟุต  (185.5  ตารางเมตร)  ต้องใช้เครื่องปรับอากาศขนาด  60,000  บีทียูหรือขนาด 5 ตันทำความเย็นอย่างไรก็ตามเป็นการคำนวณคร่าว ๆ  เพราะจะต้องรวมของที่
อยู่ในห้อง จำนวนคน เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

**หมายเหตุ

มาตราฐาน มอก.2134-2545 คือ                 EER 9.6
   เบอร์ 5 ปี 2005                 คือ                 EER 10.6
   เบอร์ 5 ปี 2006                 คือ                 EER 11.0
   เบอร์ 5 Premium ปี 2006   คือ                  EER 11.5      

วิธีเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศ
 
1. ควรเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5

วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ที่จะทำให้คุณได้เครื่องปรับอากาศที่มีคุณภาพ และเป็นมิตรกับเงินในกระเป๋าของคุณ เพราะฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 หมายถึงคุณภาพในการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศที่คุ้มค่าที่สุด โดยฉลากนี้ต้องเป็นฉลากของ สมอ. หรือ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเท่านั้นจึงจะเชื่อถือได้ โดยคุณภาพจะกำหนดเป็นตัวเลขได้ดังนี้
 
เลข 5 – ดีมาก ประสิทธิภาพการประหยัดไฟสูงสุด
 เลข 4 – ดี ประสิทธิภาพการประหยัดไฟสูง
 เลข 3 – ปานกลาง ประสิทธิภาพการประหยัดไฟปานกลาง
 เลข 2 – พอใช้ ประสิทธิภาพการประหยัดไฟพอใช้
 เลข 1 – ต่ำ ประสิทธิภาพการประหยัดไฟระดับต่ำ ไม่ควรใช้
 
2. เลือกขนาดเครื่องปรับอากาศให้เหมาะกับขนาดห้อง
 
 

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญครับ เพราะว่าขนาดห้องมีผลอย่างมากต่อความเย็นในห้อง ถ้าห้องมีขนาดใหญ่ แต่ใช้เครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก นอกจากจะทำให้ห้องไม่เย็นแล้ว ยังทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนัก สิ้นเปลืองพลังงานมากเกินความจำเป็นอีก ดังนั้นถ้าจะซื้อเครื่องปรับอากาศซักเครื่อง ต้องซื้อให้ตรงกับขนาดห้องที่จะใช้ครับ โดยดูได้จากตารางด้านล่างนี้เลย (สำหรับห้องที่มีความสูงไม่เกิน 3 เมตร) โดยช่องด้านซ้ายจะเป็นขนาดของห้อง มีหน่วยเป็นตารางวา และด้านขวาเป็นขนาดของเครื่องปรับอากาศ มีหน่วยเป็น บีทียู/ชั่วโมง
 



3. เลือกประเภทเครื่องปรับอากาศแบบไหนดี?
 
เครื่องปรับอากาศที่ขายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ชนิดติดหน้าต่าง, ชนิดแยกส่วนติดฝาผนัง หรือแขวน และสุดท้ายเครื่องปรับอากาศชนิดแยกส่วนตั้งพื้น โดยแต่ละประเภทจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันดังนี้
 
3.1 ชนิดติดหน้าต่าง

เหมาะสมกับห้องที่มีลักษณะที่ติดตั้งวงกบหน้าต่างติดกระจก ช่องแสงติดตาย บานกระทุ้ง บานเกล็ด เป็นต้น มีขนาดตั้งแต่ 9,000-24,000 บีทียู/ชม. มีค่าประสิทธิภาพ (EER = บีทียู/ชั่วโมง/วัตต์) ตั้งแต่ 7.5-10 บีทียู/ชม./วัตต์
 
3.2 ชนิดแยกส่วนติดฝาผนัง หรือแขวน


เหมาะสมกับห้องที่มีลักษณะทึบจะติดตั้งได้สวยงาม แต่จะมีราคาแพงกว่า เมื่อเปรียบเทียบเครื่องปรับอากาศชนิดต่างๆ ที่มีขนาดเท่ากัน (บีทียู/ชม.) เครื่องปรับอากาศชนิดนี้ส่วนใหญ่จะมีประสิทธิภาพสูงกว่า และจะมีสวิตช์ควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติแบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับควบคุมอุณหภูมิความเย็นของห้อง มีขนาดตั้งแต่ 8,000–24,000 บีทียู/ชม. ค่า EER ตั้งแต่ 7.5-13 บีทียู/ชม./วัตต์
 
3.3 เครื่องปรับอากาศชนิดแยกส่วนตั้งพื้น
 
เหมาะกับห้องที่มีลักษณะห้องที่เป็นกระจกทั้งหมด ผนังทึบซึ่งไม่อาจเจาะช่องเพื่อติดตั้งได้ เมื่อเปรียบเทียบเครื่องปรับอากาศชนิดต่างๆ ที่มีขนาดเท่ากัน เครื่องปรับอากาศชนิดนี้ส่วนใหญ่จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่า มีขนาดตั้งแต่ 12,000-36,000 บีทียู/ชม. มีค่า EER ตั้งแต่ 6-11 บีทียู/ชม./วัตต์
 
เมื่อรู้จักวิธีการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศให้เหมาะกับห้อง หรือที่พักอาศัยของเรากันแล้ว ต่อไปเราก็มาดูวิธีการใช้งานเครื่องปรับอากาศของเราให้ห้องเย็นสดชื่น และประหยัดพลังงาน ไม่กินไฟกันดีกว่าครับ
 
วิธีใช้เครื่องปรับอากาศให้ประหยัดพลังงาน

1. ติดตั้งเครื่องปรับอากาศในตำแหน่งที่เหมาะสม คือสูงจากพื้นพอสมควร สามารถเปิดหรือปิดปุ่มต่างๆ ได้สะดวก และให้ความเย็นเป่าออกจากเครื่อง และหมุนเวียนในห้องได้อย่างทั่วถึง
 
2. ปิดประตูห้อง หรือหน้าต่างให้มิดชิด อย่าให้ความเย็นรั่วไหล
 
3. ตั้งค่าให้เหมาะสม โดยเมื่อเปิดเครื่องควรเปิดความเร็วพัดลมไปที่ตำแหน่งสูงสุดก่อน เมื่อความเย็นได้ที่แล้ว ควรตั้งความเย็นไปที่อุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส

4. หมั่นทำความสะอาด แผ่นกรองอากาศ อุปกรณ์ในระบบปรับอากาศ และตะแกรง รวมทั้งชุดคอมเดนเซอร์ เพื่อให้อากาศผ่านเข้าออกได้สะดวกจะประหยัดไฟโดยตรง
 
5. ใช้พัดลมระบายอากาศเท่าที่จำเป็น
 
6. ปิดเครื่องปรับอากาศทุกครั้งเมื่อไม่มีความจำเป็นต้องใช้
 
7. ฤดูหนาว อากาศไม่ร้อนมากเกินไป ไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศ
 
8. หมั่นตรวจสอบ ล้าง ทำความสะอาดตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนด

9. หน้าต่างหรือบานกระจกควรป้องกันรังสีความร้อนที่จะเข้ามา ด้วยการใช้อุปกรณ์บังแดดภายนอกมิให้กระจกถูกแสงแดด เช่น ผ้าใบ หรือแผงบังแดด หรือร่มเงาจากต้นไม้ ใช้กระจกหรือติดฟิล์มที่สะท้อนรังสีความร้อน และใช้อุปกรณ์บังแดดภายใน เช่น ผ้าม่าน มู่ลี่ (กระจกด้านทิศใต้ให้ใช้ใบอยู่ในแนวนอนกระจกทิศตะวันออก-ตกให้ใช้ใบที่อยู่ในแนวดิ่ง)
 
10. ผนังหรือเพดานโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านที่มีแสงแดดส่องจะเก็บความร้อนไว้มาก ทำให้มีการสูญเสียพลังงานมาก จึงควรป้องกันดังนี้ บุด้วยฉนวนกันความร้อนหรือแผ่นฟิล์มอะลูมิเนียมสะท้อนรังสีความร้อน ทำที่บังแดด/หลังคา/ปลูกต้นไม้ด้านนอกอาคาร
 
11. พยายามอย่าใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อนในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ไฟส่องสว่างก็เป็นตัวให้ความร้อน จึงควรปิดไฟเมื่อไม่มีความจำเป็น
 
12. ชุดคอนเดนเซอร์ที่ใช้ระบายความร้อนสู่ภายนอก ควรถูกแสงแดดให้น้อยที่สุด ขจัดสิ่งกีดขวางทางลมเพื่อให้ระบายอากาศได้สะดวก และอย่าติดตั้งให้ปะทะกับลมธรรมชาติโดยตรง
 
คำแนะนำด้านความปลอดภัยของเครื่องปรับอากาศ
 

เมื่อรู้วิธีเลือก และวิธีใช้เครื่องปรับอากาศที่ถูกต้องกันไปแล้ว ต่อไปมาดูคำแนะนำด้านความปลอดภัยของการใช้งานกันบ้าง
 
1. ติดตั้งระบบสายดินกับเครื่องปรับอากาศ และทดสอบไฟรั่วด้วยไขควงลองไฟ
 2. หากมีเครื่องตัดไฟรั่วที่บ้านขนาดไม่เกิน 30mA ถ้าป้องกันวงจรของเครื่องปรับอากาศด้วย อาจมีปัญหาเครื่องตัดไฟรั่วทำงานบ่อยขึ้น ควรหลีกเลี่ยงโดยการแยกวงจรออก และใช้ขนาดไม่ต่ำกว่า100 mA ป้องกันอีกชั้นหนึ่ง
 3. ติดตั้งเบรกเกอร์หรือสวิตช์อัตโนมัติและควบคุมวงจรโดยเฉพาะ
 4. กรณีมีไฟตกหรือไฟดับ ถ้าไม่มีสวิตช์ปลดสับเองโดยอัตโนมัติ ต้องรีบปิดเครื่องทันทีก่อนที่จะมีไฟมา และควรรอระยะเวลาประมาณ 3-5 นาทีก่อนที่จะสับสวิตช์เข้าใหม่เพื่อป้องกันไฟกระชาก
 5. หมั่นตรวจสอบขั้วและการเข้าสายของจุดต่อต่างๆ อยู่เสมอ
 6. ดูข้อควรปฏิบัติในการใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างระเอียด (ผมรู้ ถ้าเครื่องไม่มีปัญหาก็คงไม่เปิดดูกันหรอก อิอิ)
 
เพียงเท่านี้หน้าร้อนนี้คุณก็มีเครื่องปรับอากาศใช้เหมาะสมกับที่พักอาศัย ประหยัดไฟ และใช้งานได้อย่างปลอดภัยแล้วครับ ต้องขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก การไฟฟ้านครหลวง สำหรับเขียนบทความในครั้งนี้